เราทุกคนรู้ดีว่าการเริ่มทำธุรกิจ เพื่อสร้างตัวและเป็นเจ้านายตัวเองนั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่หนึ่งอย่างที่ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถสร้างธุรกิจใดได้เลย สิ่งนั้นก็คือ “เงินทุน” ซึ่งไม่ว่าธุรกิจของคุณจะมีขนาดเล็ก ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เงินทุนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะช่วยต่อยอดไอเดียต่าง ๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างและสามารถดำเนินธุรกิจนั้นต่อไปได้อย่างไม่สะดุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากว่าธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-Up) คุณยิ่งจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนบ่อใหญ่เพื่อใช้สำหรับขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป แต่จะมีแหล่งเงินทุนไหนบ้างที่คุณศึกษาไว้บ้าง ควิกวอชจะพามารู้จักแหล่งเงินทุนสำหรับชาว Start Up ไปพร้อมกัน
แหล่งเงินทุนที่ 1 : ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)
เงินทุนแหล่งแรกที่ชาวสตาร์ทอัพต้องทำความรู้จักก็คือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) หรือที่คนในวงการธุรกิจส่วนใหญ่เรียกด้วยตัวย่อว่า “VC” นักลงทุนในรูปแบบขององค์กรระดมทุน ที่มักจะทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งประกอบไปด้วย หุ้นส่วน (Partners), นักค้นคว้าและวิจัยข้อมูล (Researchers), และ นักวิเคราะห์ (Analyst) เพื่อคัดเลือกบริษัทสตาร์ทอัพที่เหมาะสมที่สุดในการร่วมลงทุนด้วย และยังคอยให้คำปรึกษา แนะนำแนวทาง รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3-5 ปี โดยจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ระยะแรกกับบริษัทที่มองเห็นว่ามีศักยภาพและโอกาสในการเติบโต (High Growth) ระยะยาวต่อไปได้ ซึ่งการลงทุนมักจะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “High Risk, High Return” หรือ “เสี่ยงมาก-ผลตอบแทนมาก” ซึ่งผู้ลงทุนในกลุ่มนี้ มักจะได้ Ownership ในหุ้นของบริษัท และได้ที่นั่งในบอร์ดบริหารอีกด้วย
แหล่งเงินทุนแบบ VC มักจะสนับสนุนธุรกิจหรือบริษัทที่มี 3 ลักษณะดังนี้
- ธุรกิจที่กำลังเริ่มก่อตั้งในช่วงระยะเริ่มต้น
- ธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการ หรือต้องการเข้าสู่ตลาดใหม่
- บริษัทที่ต้องการเข้าซื้อหุ้นของกิจการหนึ่งๆโดยใช้เงินที่กู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญ
(Leveraged Buyout หรือ Management Buyout)
แหล่งเงินทุนที่ 2 : นักลงทุนอิสระ (Angel Investor)
นักลงทุนอิสระมักจะเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ผู้มีความมั่งคั่งพิเศษ (High Net Worth Investors)” โดยนักลงทุนกลุ่มนี้จะใช้เงินของตัวเองในการลงทุน ซึ่งแตกต่างจาก VC ทำให้เงินทุนที่มีไม่สูงมากนัก เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการใช้เงินลงทุนไม่กี่ล้านบาท มักจะช่วยลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้กับธุรกิจในระยะเริ่มต้น ไม่ได้หวังเพียงแค่เงินเป็นค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่จะคอยช่วยเหลือ และใช้ประสบการณ์ในด้านการบริหารช่วยโอบอุ้มธุรกิจให้อยู่รอด พัฒนาได้ด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นนักลงทุน Angle กลุ่มนี้จึงมักจะได้ที่นั่งในการเป็นผู้บริหารขององค์กร หรือบริษัทสตาร์ทอัพนั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย
แหล่งเงินทุนที่ 3 : เงินทุนสนับสนุนจากโครงการภาครัฐ (Government Grant)
ภาคธุรกิจของประเทศยังคงขับเคลื่อนและก้าวต่อไปส่วนหนึ่งนั้นได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยภาครัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจในด้านของแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะให้นักธุรกิจหน้าใหม่ หรือเหล่าชาวสตาร์ทอัพได้เติบโตต่อไปได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.ช่วงต้นของการทำธุรกิจ
ภาครัฐมีโครงการลักษณะอบรมจัดทำแผนธุรกิจ (BMC) และ Pitching เพื่อชิงเงินทุนพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ และทดลองผลิตเชิงพาณิชย์ออกสู่ตลาด
2.ช่วงกลางของการทำธุรกิจ
เมื่อเริ่มวางขายแล้ว จะมีอีกหลายโครงการเข้ามาสนับสนุน เช่น หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) หรือขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก OTOP สมัครสมาชิกของ สสว. เพื่อรับสิทธิพิเศษในการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การอบรม ออกงานแสดงสินค้า ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินทุนในหลายๆ ด้านได้เป็นอย่างดี
3.ช่วงติดปีกของการทำธุรกิจ
หากมีผลิตภัณฑ์พร้อมต่อยอด พร้อมขยายธุรกิจ ก็มีอีกหลายหน่วยงานของภาครัฐที่จะมาช่วยเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) แหล่งเงินทุนสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้น
แหล่งเงินทุนที่ 4 : การระดมทุน (Crowdfunding)
แหล่งเงินทุนสุดท้ายการระดมเงินทุนจากคนจำนวนมากทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มบนระบบอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า “Funding Portal” ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการนั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จำนวนมาก โดย Crowdfunding นั้นมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
1.Donation Crowdfunding
เป็นการระดมทุนและให้การสนับสนุนแก่เจ้าของธุรกิจ โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ที่มักได้รับการร่วมระดมทุนคือ ธุรกิจที่เน้นช่วยเหลือสังคม หรือที่เรามันจะคุ้นเคยในนาม “องค์กรการกุศล”
2.Reward Crowdfunding
เป็นการสนับสนุนแก่เจ้าของธุรกิจ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยผลตอบแทน เปรียบเสมือนการพรีออเดอร์ (Pre-Order) ที่จะทำการระดมเงินทุนเพื่อให้ธุรกิจนำเงินไปสร้างสินค้าและบริการก่อน โดยผู้ระดมทุนจะได้รับสินค้าและบริการที่ผลิต หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้านั้นตอบแทนในอนาคต
3.Equity Crowdfunding
นักลงทุนจะมีสิทธิในหุ้นของกิจการที่นักลงทุนให้เงินลงทุนไป โดยนักลงทุนจะได้รับหุ้นแลกกับเงินทุน พร้อมโอกาสในการได้รับเงินปันผลจากธุรกิจในอนาคต
4.Peer to Peer Lending (P2P Lending)
เป็นรูปแบบที่คล้ายกับสินเชื่อส่วนบุคคล เสมือนเป็นการขอสินเชื่อที่ผู้กู้มาขอระดมทุนจากนักลงทุน โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า โดยระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะมีสัญญากู้ยืม และทำการชำระคืนเป็นงวด ๆ พร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา
และทั้งหมดนี้คือ 4 แหล่งเงินทุนดี ๆ ที่ควิกวอชอยากแนะนำให้ชาว Start Up ได้รู้จักกัน ซึ่งการลงทุนในยุคสมัยนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผันผวนได้ง่าย ส่งผลให้นักลงทุนหลาย ๆ ท่านมีแนวโน้มที่จะมาลงทุนในธุรกิจ Startup มากขึ้น เนื่องจากมีความมั่นคงกว่าธุรกิจอื่น แหล่งเงินทุนใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นได้ทุกวัน เหล่านักธุจกิจมือใหม่อย่างเราอย่าเพิ่งหมดหวัง ควิกวอชจะเฟ้นหาสาระดี ๆ แบบนี้มาฝาก พร้อมเป็นกำลังใจให้ทุกคนอีกแน่นอน
ส่วนใครที่กำลังมองหาธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก ลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท แต่คืนทุนไวภายใน 2 ปี เราขอแนะนำให้คุณร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความฝันของการเป็นร้านล้างรถอัตโนมัติอันดับหนึ่งในใจคนไทย ด้วยการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Quickwash และเติบโตด้วยกันไปอย่างยั่งยืน สนใจร่วมลงทุนกับเราคลิกด้านล่างได้เลย
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก disruptignite.com, truedigitalpark.com, smethailandclub.com