“การลงทุน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ เพราะการลงทุนเป็นเหมือนการวางแผนด้านการเงินเพื่อตัวเองในอนาคตหรือหลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Passive Income คือ รายได้มาจากการที่เราลงแรงไปในตอนแรก แต่ยังคงได้รายได้นั้นกลับมาอย่างต่อเนื่องแม้งานจะเสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม ซึ่งก็จะเป็นผลดีในระยะยาวต่อตัวผู้ลงทุนเอง ยิ่งเริ่มต้นเก็บออมหรือเริ่มลงทุนได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นผลดีต่อชีวิตในวัยเกษียณมากเท่านั้น แล้วจุดเริ่มต้นของการลงทุนคืออะไรล่ะ เรามาลองอ่านจากบทความนี้กันค่ะ
Checklist ก่อนลงทุน
ก่อนการลงทุนจะต้องเริ่มต้นจากการประเมินความพร้อมของตัวเองก่อนว่าสามารถลงทุนได้จริงหรือไม่ และเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนจะต้องเป็น เงินเย็น หรือเงินที่ไม่มีต้นทุน เงินที่เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทำอะไร หรือเงินที่ไม่มีภาระ หากมีเงินในส่วนตรงนี้แล้ว ซึ่งเงินเย็นสามารถพิจารณาได้จาก 3 สิ่งคือ
- เรามีเงินก้อนเผื่อสำรองฉุกเฉินหรือยัง ในส่วนนี้เราอาจจะลองสำรวจหากเราฉุกเฉินป่วย หรือเกิดเหตุการณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้เงิน เรามีเงินส่วนอื่นเตรียมพร้อมไว้หรือเปล่า โดยเงินส่วนนั้นไม่เกี่ยวโยงกับเงินส่วนที่จำเป็นจะต้องใช้นี้นั่นเอง
- มีเงินเพียงพอชำระหนี้แล้วหรือยัง เราอาจจะต้องลองสำรวจว่าเรามีเงินที่เราจะชำระหนี้สินต่าง ๆ หรือยัง เช่นค่างวดบ้าน งวดรถ ที่ไม่ได้กระทบกับเงินส่วนนี้
- ทำรายรับรายจ่ายให้แน่นอน หากเราทำรายรับ รายจ่ายที่แน่นอนแล้ว เงินส่วนนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบไปบันทึกใด ๆ ก็เท่ากับว่าเรามีเงินเย็นอยู่กับตัวแล้วนั่นเอง
ก็สามารถเตรียมพิจารณาเรื่องการลงทุนต่อไป
รู้การเดินทางของเงิน
จะต้องรู้ว่าเมื่อมีรายรับเข้ามา จะต้องจ่ายอะไรออกไปบ้าง ซึ่งสิ่งที่จะช่วยทำให้ง่ายขึ้นนั่นก็คือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และคอยสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเองว่าเป็นอย่างไร พอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนไหม หรือพอแล้วเหลือเงินเท่าไหร่
เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน
ในการลงทุนนี้ สิ่งที่สำคัญมากอีกหนึ่งสิ่งนั้นก็คือ การเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อสำรองเงินในส่วนนี้หากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันต้องใช้เงินจริงๆ เช่น ขาดรายได้ชั่วคราว โดยควรมีเงินในส่วนนี้คิดเป็น 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
เรียนรู้หนี้
เริ่มจากการเรียนรู้และบริการจัดการหนี้ เนื่องจาก ในช่วงวัยเริ่มต้นทำงานมักเริ่มมีการใช้บัตรเครดิต สิ่งนี้จะทำให้เกิดหนี้ได้ง่าย เนื่องจากใช้งานง่ายสะดวกแต่ก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเช่นกันหากบริการจัดการเงินในส่วนนี้ไม่ดี และอาจสร้างความเดือดร้อนได้ แต่หากใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธี มีวินัย ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านการบริหารการเงินได้เป็นอย่างดี
เมื่อตรวจสอบทุกอย่างและพบว่าพร้อมลงทุน ก็เข้าสู่ขั้นตอนการลงทุน ดังนี้
1.ตั้งเป้าหมายในการลงทุนให้ชัดเจน
การในการลงทุนเราจะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเราจะลงทุนไปเพื่ออะไร เช่น ลงทุนเพื่อใช้เงินในวัยเกษียณอายุ เพื่อบุตร หรือเพื่อซื้อบ้าน เป็นต้น และควรระบุรายละเอียดด้วยว่าเป้าหมายดังกล่าวมีมูลค่าเท่าไร ใช้ระยะเวลากี่ปีในการเก็บเงิน ซึ่งหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็จะทำให้เราเห็นทางที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นได้
2.รู้ระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้
เพราะความสามารถและความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน จะต้องประเมินตัวเองก่อนว่ายอมรับความเสี่ยงได้ระดับใด ซึ่งระดับความเสี่ยงนั้นมี ความเสี่ยงได้ต่ำ ปานกลาง หรือสูง และเมื่อได้รู้ระดับความเสี่ยงแล้วก็จะได้รู้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทและผลตอบแทนคาดการณ์ของพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้น
3.กระจายความเสี่ยง
เมื่อรู้ระดับความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเองแล้ว นักลงทุนจะต้องพยายามลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ด้วย ซึ่งวิธีนั้นก็คือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน หรือบริหารจัดการพอร์ต (Portfolio) การลงทุนของตัวเองให้มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดและมีความเสี่ยงหรือความผันผวนในผลตอบแทนต่ำที่สุด
4.อย่ามองข้ามผลประโยชน์ทางภาษี
แม้บางคนอาจจะยังไม่ต้องเสียภาษี หรือเลือกใช้วิธีการประหยัดภาษีด้วยวิธีอื่นแทน แต่การเลือกเครื่องมือลงทุนที่ได้ประโยชน์ทางภาษีก็เป็นข้อได้เปรียบด้วย หากเป็นพนักงานประจำ คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่หากประกอบอาชีพอิสระหรือที่ทำงานไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่หากประกอบอาชีพอิสระสามารถลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
5.การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
เป็นวิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่เหมาะวัยหนุ่มสาวที่ต้องการลงทุนในระยะยาว คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน DCA (Dollar-Cost Averaging) คือ การลงทุนแบบทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุน หรือสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อคาดหวังว่ามูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยไม่สนใจความผันผวนของมูลค่าระหว่างทาง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกไม่ยุ่งยากซับซ้อนและเห็นผลได้จริง
ข้อควรรู้
นอกจากต้องศึกษาทำความเข้าใจเครื่องมือการลงทุนแต่ละประเภท หมั่นหาความรู้รอบตัวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวัง ตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือก่อนลงทุนด้วย โดยเลือกติดต่อกับผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตรง หรือตรวจสอบก่อนว่าเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First เป็นต้น
เพียงสละเวลา ตั้งข้อสังเกตและตรวจสอบ อย่ามองแต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว พิจารณาถึงความเป็นไปได้ก็จะช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี และลงทุนได้อย่างสบายใจ
ที่มา : https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/87-tsi-5-tips-to-invest-since-young