รถยนต์อัตโนมัติ หรือ ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามจากรถยนต์ในฝัน และภาพจำในภาพยนตร์ เข้าสู่ความเป็นจริง มีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกำลังเดินหน้าพัฒนาระบบ เพื่อเป็นที่หนึ่งของตลาดยานยนต์ไร้คนขับก่อนใคร บางบริษัทก็ไต่ระดับ พัฒนาความสามารถในกับขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ จนอยู่ในขั้นสูงกว่าที่เคยและสามารถสร้างรถยนต์กึ่งอัตโนมัติได้สำเร็จ บริษัทไหนจะเป็นตัวเต็งในสนามแห่งยานยนต์ไร้คนขับที่น่าจับตาบ้าง มาดูกัน TESLA หากพูดถึงรถยนต์อัตโนมัติ นาทีนี้ต้องมีชื่อ Tesla (เทสล่า) เป็นชื่อบริษัทอันดับแรกที่อยู่ในใจหลายๆ คนแน่นอน โดยบริษัท Tesla เป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด 100% (Electric Vehicle) จากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับ โดยเริ่มเปิดตัวความอัจฉริยะของรถยนต์อัตโนมัติด้วยการใส่ระบบขับขี่อัตโนมัติ ( AutoPilot ) เข้ามาในรถยนต์ Tesla model S ซึ่งสามารถช่วยขับแทนผู้ใช้งานได้จริง แต่จัดในอยู่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอยู่ในระดับ 3 ( SAE Automation Levels 3 : Conditional Driving Automation ) ปัจจุบัน Tesla สามารถพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติมาจนถึงระดับที่ 4 ( SAE Automation Levels 3 : High Driving Automation ) ที่สามารถให้รถขับเคลื่อนได้เอง โดย Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO คนล่าสุด ออกมาเผยว่ารถยนต์ที่กำลังพัฒนาอยู่นั้น จะสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ 100% แต่จะเป็นยังไงนั้น ต้องมารอติดตามกัน Alphabet Inc. Alphabet Inc. เป็นที่รู้จักในนามของบริษัทแม่ของ Google บริษัทมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากงานวิจัย และใช้เวลากว่า 7 ปีไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองจนพาตัวมาอยู่ในแถวหน้า ในนามบริษัทลูกอย่าง Waymo เมื่อปี ค.ศ. 2015 เริ่มมีการนำรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติไร้คนขับมาทดลองขับขี่ใน Austin, Texus โดยให้ชายผู้บกพร่องทางการมองเห็น โดยสารรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติคันดังกล่าว พร้อมทีมวิศวกรนั่งประกบเพื่อทดสอบการใช้งานจริง และเมื่อปี ค.ศ. 2019 ได้หันมาจับมือกับบริษัทพันธมิตรอย่าง Honda และ Intel เพื่อพัฒนาชิปของรถยนต์อัตโนมัติร่วมกัน ต้องรอดูว่าการรวมพลังครั้งนี้จะสร้างนวัตกรรมไหนให้ผู้ใช้รถเซอร์ไพรส์ได้อีก ต้องติดตาม Daimler บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เจ้าของแบรนด์ Mercedes-Benz จับมือกับ Baidu บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน Search Engine และเทคโนโลยีสัญชาติจีน ร่วมกันนำระบบรถยนต์อัตโนมัติขับเคลื่อนตัวเองที่ Baidu พัฒนาขึ้น มาใช้ในรถยนต์ที่ Daimler เป็นผู้ผลิต นอกจากนั้นบริษัท Daimler ได้พัฒนาระบบรถยนต์จนมีความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติอยู่ในระดับ 3 หรือยังต้องมีมนุษย์การควบคุมอยู่นั่นเอง แต่ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่น่าจับตา เพราะ บริษัท Daimler ได้ร่วมมือกับบริษัท Uber พัฒนารถยนต์เพื่อให้สามารถขับเคลื่ออัตโนมัติได้ในระดับ 4 และ 5 ที่สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% ต้องรอติดตามว่ารถดังกล่าวจะเป็นอย่างไร จะสามารถขึ้นแซง Tesla ได้หรือไม่ ต้องรอดู BMW บริษัทรถยนต์ที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ได้ร่วมมือกับ Intel บริษัทผู้นำด้านคอมพิวเตอร์ และ Mobileye บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี ในนาม BMW iNEXT โดยเป็นรถนวัตกรรมใหม่ ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ 4 ระดับ หรือคนขับเองได้เหมือนรถไฟฟ้าทั่วไป หากเกิดกรณีที่ไม่มั่นใจในระบบ เมื่อเข้าสู่โหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ พวงมาลัยจะหดกลับเข้าไปในแดชบอร์ด แป้นเบรกและแป้นคันเร่งก็หายไปด้วยเช่นกัน โดยคันเร่งและเบรกจะหดลงไปจมอยู่กับพื้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการวางเท้า เมื่อต้องการกลับมาควบคุมรถยนต์ด้วยตัวของคุณเองก็แค่กดลงไปบนตราสัญลักษณ์ BMW พวงมาลัยจะยื่นออกมาพร้อมๆ กับสัญญาณเตือนที่จะส่งมอบการควบคุมให้กับคนขับ จัดว่าเป็นรถในฝันที่น่าครอบครองอีกหนึ่งแบบ ต้องรอติดตามว่าในอนาคต BMW จะสามารถพัฒนาระบบขับเคลื่อนไปสู่ระดับ 5 หรือขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ 100% ได้หรือไม่ ต้องรอชม Apple Inc. บริษัทคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เบอร์ต้นๆ ของโลกที่เปิดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ดีไซน์เรียบหรูจนเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ บริษัท Apple เคยมีโครงการ “ไททัน” ที่พัฒนาด้านรถยนต์อัตโนมัติในปี ค.ศ. 2014 แต่ก็ต้องพับโปรเจ็คไป ตอนนี้ Apple กำลังกลับมาพัฒนาอีกครั้ง และกำลังคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ Apple ได้ยื่นขอและเผยแพร่สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ถึง 248 รายการ แต่จะออกมาหน้าแบบไหน ตรงตามโมเดลที่วางไว้ไหม ต้องรอติดตาม แม้ว่าจะยังไม่มีแบรนด์ใดที่สามารถพัฒนาและผลิตยานยนต์ไร้คนขับ หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% ออกมา แต่ก็ถือว่าการพัฒนาของแต่ละแบรนด์นั้นเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว รถยนต์ไร้คนขับอาจเป็นจริงได้ในอีกไม่ช้า ต้องรอติดตามว่าจะมีแบรนด์ไหนที่สามารถทำลายขีดจำกัด และพัฒนารถยนต์อัตโนมัติ 100% ได้ก่อนกัน หรือไม่แน่ว่า อาจจะมีม้ามืดนอกจาก 5 บริษัทนี้สามารถพัฒนารถยนต์ไร้คนขับได้ก่อนก็เป็นได้ เราขอแนะนำว่าให้ กดติดตาม (Subscribe) บทความนี้ไว้ เพื่อไม่ให้พลาดสาระความรู้ และติดตามข่าวสารวงการยานยนต์ก่อนใคร
หากพูดถึงความสามารถในการขับเคลื่อนของรถยนต์อัตโนมัติ หรือ ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) อาจเกิดข้อถกเถียงว่ารถยนต์แบรนด์ไหนจะสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% เราจึงมาสรุปให้หายสงสัยว่าความจริงแล้วระดับความสามารถในการขับเคลื่อนแบ่งเป็นกี่ระดับกันแน่ แล้วแต่ระดับนั้นต่างกันอย่างไร มาดูกัน ระดับของการขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ Society of Automotive Engineers หรือ SAE International อาจจะเป็นชื่อหน่วยงานคนใช้รถคุ้นตา เพราะเป็นหน่วยงานเดียวกันกับหน่วยงานที่แบ่งเกรดน้ำมันเครื่อง ที่เรามักจะเห็นโลโก้กันเป็นประจำอยู่ด้านข้างกระป๋อง โดยหน่วยงานนี้ยังเข้ามามีบทบาท ทำหน้าที่ในการแบ่งระดับของการทำงานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยเช่นกัน แบ่งเอาไว้ทั้งหมด 6 ระดับ ดังนี้ SAE Automation Levels 0: No Automation ระดับ 0 : รถจะไม่มีระบบอัตโนมัติอยู่เลย ผู้ขับขี่ที่เป็นมนุษย์จะทำหน้าที่ในการควบคุมเองทุกอย่าง ทั้งพวงมาลัย, เบรก คันเร่ง สรุปง่ายๆ ว่าระดับนี้คือ ระดับรถยนต์ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ SAE Automation Levels 1: Driver Assistance (Hands on) ระดับ 1 : ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเริ่มเข้ามาช่วยเหลือผู้ขับขี่ในบางฟังก์ชั่น เช่น ระบบ Adaptive Cruise Control ที่ควบคุมคันเร่งได้อัตโนมัติ, Lane Keeping ที่ควบคุมพวงมาลัยให้อยู่ในเส้นทางเดินรถโดยอัตโนมัติ เป็นต้น โดยการทำงานของระบบอัตโนมัติจะไม่ทำงานพร้อมกัน อีกทั้งคนขับยังจำเป็นเป็นคนมองเส้นทางอยู่ และพร้อมที่จะกลับเข้าไปควบคุมได้ตลอดเวลา SAE Automation Levels 2: Partial Automation (Hands Off) ระดับนี้ จะคล้ายกับ Level 1 เพียงแต่ว่า ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะทำงานพร้อมกันตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป อย่างเช่นระบบ Pilot Assist ของ Volvo ที่เมื่อตั้งระบบ Adaptive Cruise Control ให้ทำงาน ระบบจะทำการปรับระดับความเร็วให้อัตโนมัติ ตามที่เราตั้งค่าเอาไว้ และปรับความเร็วไปตามความเร็วรถข้างหน้าได้ พร้อมกันนี้ ระบบก็จะเข้ามาควบคุมพวงมาลัย และเบรกด้วย ทาง SAE จึงนิยามในระดับนี้ว่า Hands Off หรือปล่อยมือได้ แต่ผู้ขับขี่ก็ยังคงต้องตรวจสอบเส้นทางด้วยสายตาตัวเองอยุ่ตลอดเวลา และพร้อมกลับเข้าไปควบคุมตัวรถเองได้ทุกวินาทีเช่นเดิม SAE Automation Levels 3 : Conditional Driving Automation ในระดับนี้จะมีความสามารถในการตรวจจับสภาพแวดล้อม และสามารถตัดสินใจได้อย่างเต็มที่และอย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ในพื้นที่ที่มีการจำกัดโซนเอาไว้ เช่น ฟรีเวย์, ไฮเวย์ โดยผู้ขับขี่สามารถละการควบคุมรถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการละสายตาจากถนนไปหยิบสิ่งของ หรืออ่านข้อความสั้นๆ ในโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ผู้ขับขี่ยังคงต้องตื่นตัว เตรียมตัว และพร้อมในการเข้าควบคุมรถเองในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา อธิบายง่ายๆ คือ สามารถละสายตาได้ชั่วขณะ แต่ไม่สามารถละสายตาจนอ่านหนังสือจบเล่มได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เงื่อนไขการทำงานในระบบผิดพลาด รถจะมีฟังก์ชั่นขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วย โดยรถยนต์จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ ยังคงพัฒนาอยู่ในแค่ระดับนี้ แม้กระทั่ง Tesla เองก็ตาม SAE Automation Levels 4 : High Driving Automation ระดับ 4 เป็นระบบอัตโนมัติระดับสูง ยานพาหนะนั้นจะสามารถบังคับขับเคลื่อนและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใต้สภาวะที่เกิดขึ้นใน ณ ขณะที่ยานหานะเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นหลบหลีกสิ่งกีดขวาง มีรถเลี้ยวออกมาจากซอย อีกทั้งเตือนถึงความเร็วที่มากจนเกินไปในขณะขับขี่ โดยที่มนุษย์นั้นมีส่วนในการบังคับควบคุมนั้นน้อยมาก ๆ หรือแทบจะไม่ต้องบังคับเลย แต่มนุษย์ยังคงสามารถควบคุมตัวรถได้ หากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ในระดับ 4 นี้ ระบบสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ แต่ฟังก์ชันนี้มีข้อจำกัดว่าไว้เฉพาะขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงและสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอื่นๆ อาจต้องเป็นเส้นทางที่ตั้งไว้ หรือ เป็นเส้นทางประจำ ไม่มีการออกนอกเส้นทางเด็ดขาด เช่น ในเมือง หรือ ชนบท ซึ่งทำให้การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับระดับ 4 ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นรถรับส่งสาธารณะ ที่วิ่งด้วยความเร็วไม่สูงมาก และมีเส้นทางที่ระบุชัดเจน SAE Automation Levels 5 : Full Driving Automation (No driver!) ระดับนี้ไม่ต้องการมนุษย์มาช่วยขับอีกต่อไป เพราะระบบจะทำงาน Dynamic Driving Task เต็มประสิทธิภาพ เป็นระดับสูงสุดที่ SAE ตั้งข้อกำหนดเอาไว้ ตัวระบบไม่ต้องการการควบคุมใดๆ จากผู้ขับเลยในทุกกรณี ผู้ขับเพียงแต่สตาร์ทเครื่องและระบุจุดหมายปลายทางบนเนวิเกเตอร์เท่านั้น หรืออาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สมาร์ทโฟน ดังนั้นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในคลาสนี้ต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนตัวรถเองในทุกสถานการณ์โดยไม่ละเมิดกฏหมายใดๆ และสามารถตัดสินใจประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขับสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามความต้องการ เป็นรถยนต์ในฝันแห่งโลกอนาคตที่พาคุณไปได้ทุกที่ตามใจต้องการ จากระดับการขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติที่กล่าวไป อาจทำให้หลายคนเข้าใจรถยนต์อัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์ใดพัฒนาไปได้ถึงจุดระดับ Full Driving Automation แม้แต่ระบบขับเคลื่อนกึ่งเคลื่อนอัตโนมัติจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla Model S ที่มีชื่อทางการค้าว่า AutoPilot ก็ยังไม่ถึงขั้นอัตโนมัติ 100% และยังเป็นเพียงรถในระดับ Level 3 เท่านั้น แต่หลังจากนี้เรามารอติดตามกันดีกว่าว่า วงการยานยนต์จะสร้างความเซอร์ไพรส์ หรือบริษัทไหนจะสามารถพัฒนาระบบจนสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติ 100% ได้ก่อนกัน เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและสาระสำคัญ กดติดตาม (Subscribe) บทความของเราไว้ได้เลย รับรองว่าจะอัพเดทให้ทันทุกเทรนด์ยานยนตแน่นอน
Autonomous vehicle อาจจะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นชิน แต่ถ้าในวงการรถและยานยนต์นั้น คงเป็นคำยอดฮิตที่หลายคนให้ความสำคัญและกำลังศึกษา รวมถึงติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาเป็นแน่ เพราะ Autonomous vehicle คือ นวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับ สุดยอดเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่โลกกำลังให้ความสนใจ จนมีหลากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาระบบ อาทิเช่น Tesla, Apple, และ Google โดยบางบริษัทก็เริ่มมีการผลิตยานยนต์กึ่งไร้คนขับออกมาใช้บ้างแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการผลิตยานยนต์ไร้คนขับแบบเต็มรูปแบบเข้าสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วในอีกไม่ช้าแน่นอน แต่ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) คืออะไร รถยนต์ไร้คนขับได้จริงหรือไม่ มาดูกัน ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) คืออะไร? ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle หรือ Self-driving Car) คือ เทคโนโลยีที่ทำให้ยานพาหนะหรือรถยนต์สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมรอบข้าง และสามารถขับเคลื่อนไปยังที่ต่างๆ ได้เองแบบอัตโนมัติและปลอดภัย โดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่จำเป็นต้องมีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์อยู่ในรถเลยก็ได้ ซึ่งความล้ำหน้าสุดเจ๋งนี้ เกิดจากการใช้นวัตกรรมของเทคโนโลยีหลักๆ 4 เทคโนโลยี ดังนี้ Computer Vision : เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับยานยนต์ไร้คนขับ โดยใช้กล้อง และเรดาร์ตรวจจับคลื่นต่างๆ ทั้งเสียงและวัตถุโดยรอบเมื่อรถวิ่ง 2. Robotic : เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เสมือนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับแขนขาและส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยทำการเชื่อมต่อระบบประมวลผลส่วนกลางเข้ากับระบบเครื่องจักรต่างๆ ในตัวรถ 3. Deep Learning : เทคโนโลยีที่เป็นสมองของยานยนต์ไร้คนขับ สามารถตัดสินใจควบคุมรถได้ด้วยระบบตนเอง โดยมาจากการประมวลผลข้อมูลที่รับมาจากระบบ Computer Vision 4. Navigation : เทคโนโลยีที่เป็นระบบแผนที่ที่เราคุ้นหูกันดี โดยประกอบด้วยระบบการระบุตำแหน่งของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจากดาวเทียม และระบบแผนที่เสมือนจริงที่เก็บรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัล ทั้งนี้ยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งของรถบนถนน เช่น ตำแหน่งของไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณต่างๆ รวมถึงความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตให้รถวิ่งได้ในถนนแต่ละเส้น ยานยนต์ไร้คนขับจะใช้ระบบแผนที่ซึ่งประมวลผลร่วมกับระบบ Sensor เพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำในการตัดสินใจให้เสถียร์มากยิ่งขึ้น ข้อดีของยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) ขับขี่สะดวกสบายมากขึ้น : ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะทางสั้นหรือยาว ใกล้หรือไกล ระบบช่วยขับอัตโนมัติของยานยนต์ไร้คนขับ จะช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถงีบหลับ พักผ่อน เพื่อคลายความเมื่อยล้าได้ในขณะขับรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่รถติด การจราจรหนาแน่น ยานยนต์ไร้คนขับก็จะช่วยผ่อนแรงไปได้มาก หมดปัญหาปวดขา อีกทั้งยังช่วยทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ลดลงได้อีกด้วย อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนถนนลดลง : เนื่องจากยานยนต์ไร้คนขับทุกคันนั้นมีกล้องมองรอบทิศทาง มีเซ็นเซอร์ตรวจจับ อีกทั้งยังใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพการจราจร จึงทำให้อุบัติเหตุจากการขับจี้ท้าย ปาดหน้า และหลับใน มีอัตราและแนวโน้มที่จะลดน้อยลงซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากขึ้นไปอีก มีเวลาชีวิตเพิ่มมากขึ้น : เมื่อยานยนต์ไร้คนขับสามารถขับเคลื่อนได้อย่างอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำเวลาในการเดินทางไปทำอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้บนรถ หรือการใช้รถให้ขับขี่ไปยังที่หมายแทนตัวผู้ขับขี่ และทำกิจกรรมที่สำคัญหรือเร่งด่วนกว่า นอกจากนั้นยานยนต์ไร้คนขับยังช่วยลดการเกิดรถติด และทำให้ระยะเวลาในการเดินทางสั้นลง McKinsey มีการประเมินเบื้องต้นว่าเมื่อยานยนต์ไร้คนขับเข้าสู่รถยนต์กระแสหลักของโลก จะช่วยประหยัดเวลาในท้องถนนรวมๆ แล้วกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน ข้อเสียของรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) อันตรายจากความไม่ชัดเจนของป้ายจราจร : ถึงแม้ยานยนต์ไร้คนขับจะมีความสามารถในการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับและอ่านป้ายจราจร แต่หากเกิดกรณีที่ป้ายจราจรทำชำรุดหรือมีร่องรอยจนอ่านได้ยากและไม่ชัดเจน อาจส่งผลให้ระบบประมวลผลทำงานผิดพลาด และนำไปสู่การตัดสินที่ผิดพลาดได้ อันตรายจากผิวถนน : ระบบของยานยนต์ไร้คนขับอาจจะไม่สามารถแยะสภาพพื้นผิวของถนนที่เปลี่ยนไปทุกวันได้ เซ็นเซอร์อาจแยกหลุมบ่อบนพื้นถนนผิดพลาด และหากตกหลุมที่ลึกมากๆ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ อันตรายจากรถยนต์คันอื่น : เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้กับการใช้รถหรือยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนร่วมกับผู้อื่น เพราะไม่ใช่รถทุกคันที่จะใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับขี่ตามใจตนเอง หรือยากในการประมวลผลผ่านระบบ เช่น การขับปาดหน้า และขับย้อนศร อาจส่งผลให้ยานยนต์ไร้คนขับตัดสินใจผิดพลาด และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ราคาแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป : แม้จะได้รับความนิยมและความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ยานยนต์ไร้คนขับนั้นมีราคาค่อนข้างสูงมาก เป็นราคาที่เกินเอื้อมสำหรับบุคคลทั่วไป ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับอย่าง Tesla Model S มีราคาขานในประเทศไทย คือ 6.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงมากสำหรับรถยนต์ทั่วไป ทำให้เป็นเพียงรถในฝันของบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ราคาจะต่ำลงจนคนทั่วไปเอื้อมถึงได้ อย่างไรก็ตามยานยนต์ไร้คนขับก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าติดตามมากสำหรับชาวรักรถทุกคน วันนี้เรามาแนะนำเพียงข้อมูลเบื้องต้นของยาวยนต์ไร้คนขับ ครั้งหน้าเราจะเอาข้อมูลข่าวสารของยานยนต์ไร้คนขับในแง่มุมหรือด้านไหนมาฝาก รอติดตามได้เลย หรือสามารถ กดติดตาม (Subscribe) บล็อกของเราไว้ได้ เพื่ออ่านข้อมูลและสาระดีๆ ได้ก่อนใครเลย Blog แนะนำ 5-ระดับมาตรฐาน-การขับเคลื่อนอัตโนมัติ-ของรถแห่งอนาคต
หากพูดถึงคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือแล็ปท็อป ชื่อของ Macbook คงเป็นคำค้นหายอดฮิต และเป็นชื่อแรกที่ลอยเข้ามาในหัวเป็นแน่ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็เจอใครต่อใครจับจองเป็นเจ้าของเจ้าแล็ปท็อปดีไซน์เรียบหรูรุ่นนี้ทั้งนั้น จะนักศึกษา หรือคนวัยทำงานก็ใช้กัน ขนาดเปิดหน้าจอทีวีก็ยังเจอเจ้า Macbook เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากการทำงานของพระเอกนางเอกแทบทุกเรื่องไป แล้วจะไม่ขึ้นแท่นให้เป็นแล็ปท็อปนัมเบอร์วันก็คงไม่ได้ แต่อะไรที่เป็นสาเหตุให้ Macbook เป็นอุปกรณ์พกพาสุดปังในวงการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คกัน วิวัฒนาการที่ตอบโจทย์การใช้งานของ Macbook ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากว่าจะเป็น Macbook ที่มีระบบปฏิบัติการสุดล้ำ สเปกสุดแรง และดีไซน์สุดจึ้งในเวอร์ชั่นอย่างทุกวันนี้ ทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิด และพัฒนาโดยบริษัท Apple มาหมดแล้ว เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานมากที่สุด โดยแรกเริ่มจุดกำเนิดของ Macbook เริ่มจากคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องแรกอย่าง Macintosh Portable ในปี ค.ศ. 1989 แม้รุ่นนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ก็ได้รับเสียงฮือฮาในวงการเทคโนโลยี เพราะ Apple สร้างความแตกต่างด้วยระบบแบตเตอรี่ ทำให้เครื่องสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก หลังจากนั้น Apple ก็มีการเปิดตัวคอมพิวเตอร์พกพาในชื่อ Powerbook ออกมาอีกหลายรุ่น ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงฮือฮาบ้าง แต่อาจยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2001 ยุคทองของ iBook ก็เริ่มต้นขึ้น Apple เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายหันมาจับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้คอมพิวเตอร์พกพารุ่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และในด้านดีไซน์ iBook ได้มีการออกแบบผ่านแนวคิดใหม่ จึงทำให้เป็นแล็ปท็อปที่มีรูปทรงล้ำสมัยพร้อมสีสันที่สะดุดตา เช่น สี Aqua ยิ่งสร้างอิทธิพลให้ Macintosh กลับเข้ามาอยู่ในระบบอีกครั้ง แม้ว่าในประเทศไทยในยุคนั้นอาจมีการเข้าถึงและการใช้งาน Macintosh เฉพาะกลุ่ม และแพร่หลายไม่มากนักก็ตาม ด้วยกระแสความนิยมของ iBook ที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้ Apple ได้พัฒนาและเปิดตัว Macbook รุ่นแรกขึ้นในปี ค.ศ. 2006 มีตัวเครื่องบางกว่าเดิม 20% ใช้ซีพียู Intel Core Duo แรงกว่า iBook ถึง 5 เท่า และแรงกว่า PowerBook รุ่น 12 นิ้ว ถึง 4 เท่า หน้าจอของ MacBook มีขนาด 13.3 นิ้ว มีความสว่างมากกว่า iBook และ PowerBook 79% มีกล้อง iSight ในตัว พร้อม MagSafe มีตัวเครื่องให้เลือก 2 สี คือ สีขาวและดำ ราคาเปิดตัว $1,099 สำหรับสีขาว และ $1,499 สำหรับสีดำ นอกจากนั้นยังมาพร้อมกับ MacBook Pro หน้าจอขนาด 15 นิ้ว มีความสว่างกว่ารุ่นก่อน ๆ 67% พร้อม Trackpad แบบ Scroll ได้ และมีเซ็นเซอร์ตรวจจับเวลาทำเครื่องตกพื้นเพื่อช่วยป้องกันฮาร์ดดิสก์เสียหาย ใช้ซีพียู Intel แรงกว่า PowerBook G4 ถึง 4 เท่า ราคาเปิดตัว $1,999 ซึ่งได้รับกระแสความนิยมอย่างถาโถม สร้างฐานแฟนคลับจากมหาศาลให้กับ Apple และเสียงฮือฮาก็กลับมาดังกระหึ่มอีกครั้งในปี ค.ศ. 2008 เมื่อ Steve Jobs เทบางสิ่งรูปร่างคล้ายแล็ปท็อปออกจากซองเอกสารสีน้ำตาลที่ใช้งานตามออฟฟิศทั่วไป บนเวทีงาน Mac World 2008 และนั่นคือ การเปิดตัว Macbook Air อย่างเป็นทางการ จัดว่าเป็นแล็ปท็อปที่บางและเบาที่สุดในยุค จนมีหลากหลายแบรนด์นำไปเป็นต้นแบบของ Ultrabook ในช่วงหลัง Macbook ดีกว่าโน้ตบุ๊คทั่วไปอย่างไร ในยุคแห่งเทคโนโลยีทำให้เรามีตัวเลือกมากมาย และทำไม Macbook ถึงขึ้นแท่นแล็ปท็อปนัมเบอร์วัน คอมพิวเตอร์ในฝันของคนทำงาน มีดูข้อดีหรือจุดแข็งที่เหนือกว่าแบรนด์อื่นอย่างไร มาดูกัน MacBook มีระบบปฏิบัติการเสถียรภาพสูงอย่าง MacOS ต้องยอมรับว่า MacBook ครองใจผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่ม ช่างภาพนิ่ง ช่างวีดีโอ และนักตัดต่อวีดีโอ เพราะสามารถใช้ในงานตัดต่อวีดีโอ หรือกราฟฟิคต่างๆ หรือ CG ได้เป็นอย่างดี ไม่กระตุก ในวงการเพลงก็พบว่านักดนตรีส่วนใหญ่มักจะนำ MacBook ไปใช้กับการทำเพลง นอกจากนี้ก็ยังมีสถาปนิกที่นำไปใช้ในการออกแบบโครงสร้างบ้าน หรืออาคาร 3 มิติ เนื่องจากระบบปฏิบัติการ MacOS มีความเสถียรภาพสูงมาก ไม่ค่อยพบปัญหา หรืออาการงอแงบ่อยเท่า Windows ทำให้ผู้ใช้งานค่อนข้างพอใจนั่นเอง MacBook มีแบตอึดมาก และให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดี MacBook ในบางรุ่นสามารถใช้งานต่อเนื่องบนแบตเตอรี่ได้มากถึง 13 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว รวมไปถึงหน้าจอ Retina Display ที่เป็นจอภาพคุณภาพสูง ให้ความละเอียดที่มากกว่า Notebook ทั่วไป อีกทั้งยังมีขอบเขตสีที่เกิน 100% sRGB จนทำให้อยู่เหนือกว่าคู่แข่งแบรนด์อื่น ไม่ใช่เพียงแบตเตอรี่ ส่วนอื่นของ MacBook เองก็มีความทนทานเป็นอย่างมากเช่นกัน MacBook มีความเข้ากันของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจาก Apple เป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาทั้งในส่วนของตัวเครื่อง ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ MacOS จึงทำให้ไม่เกิดอุปสรรคในเรื่องของการเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์ต่างๆ และสามารถซิงค์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ของ Apple ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น iMac, iPad หรือ iPhone การส่งไฟล์แชร์ไฟล์ ทำให้ระหว่าง MacOS และ iOS ทำงานกันได้แบบไร้รอยต่อทีเดียว จึงได้รับการยอมรับจากเหล่าคนทำงานมืออาชีพ เหตุผลที่เรากล่าวไปทั้งหมดนั้น อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ Macbook ขึ้นแทน No.1 ในกลุ่มแล็ปท็อป ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้ Macbook ครองใจผู้ใช้งานทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่าแล็ปท็อปแบรนด์ส่วนใหญ่ แต่ด้วยประสิทธิภาพที่ Macbook ทำได้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะยอมจ่าย แถมยังมีรูปลักษณ์และดีไซน์ที่เรียบหรูโดดเด่นอีก ไม่มีเหตุผลไหนที่ปฏิเสธคำพูดที่ว่า คอมพิวเตอร์ในฝัน ได้เลย ใครที่เป็นสาวก Apple และ Macbook มารอลุ้นกันดีกว่ารุ่นต่อไปจะเปิดตัวได้ปังขนาดไหน หรือสามารถ กดติดตามBlog ของเราได้ หากมีข่าวสารอัปเดตอย่างไร เราจะรีบเอามาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันแน่นอน Quickwash x Carmunity
ระยะเวลา 40 กว่าปีที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง Apple Inc. ครองใจผู้ใช้งานมาอย่างยาวนาน และตอนนี้ถูกจัดเป็นแบรนด์ด้านอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ความนิยมสูงสุด และยังสามารถสร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก อะไรที่ทำให้พวกเขาเติบโต และก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เราจะมาเปิดประวัติความเป็นมาให้ทุกคนได้ทราบกัน จุดเริ่มต้นของ Apple ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1976 ในยุคสมัยที่คอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่เท่าผนังบ้าน บริษัท Apple ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เข้าสู่ความล้ำสมัย ลบล้างอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ที่เคยมีมา ซึ่งแนวคิดที่ว่าเกิดขึ้นโดย 3 หนุ่ม ได้แก่ Ronald Wayne พนักงานด้านอิเล็กทรอนิกส์วัย 42 ปี ผสมโรงกับ Steven Wozniak และ Steven Jobs สองหนุ่มที่ออกจากมหาวิทยาลัยโดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้คนให้เรียบง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น พวกเขามีจุดประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทเพื่อจำหน่ายคอมพิวเตอร์ระบบส่วนบุคคล เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กลง สามารถใช้ที่บ้าน หรือสำนักงานได้อย่างสะดวก โดยคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่วางจำหน่าย คือ Apple I ซึ่งเป็นเพียงแผงวงจรเท่านั้น ไม่มีคีย์บอร์ดและเคส แต่ผลประกอบการกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และหลังจากนั้นไม่นาน Ronald Wayne ก็ลาออกจากบริษัท Apple ไป แต่บริษัทก็พยายามเดินหน้าคิดค้น จนกลับมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายอีกครั้งด้วย Apple II สินค้าที่พลิกฟื้นและสร้างกำไรให้กับบริษัทอย่างล้นหลาม เป็นคอมพิวเตอร์ที่มาพร้อมคีย์บอร์ดและเคสในตัว ถูกใจผู้คนจำนวนมากในขณะนั้น แต่แน่นอนว่าการแข่งขันก็สูงขึ้นเช่นกัน เพราะยุคนั้นเป็นยุคบุกเบิกของวงการคอมพิวเตอร์ มีหลายบริษัทเกิดขึ้น และเติบโตตามๆ กันมา ในช่วงปี ค.ศ. 1979 บริษัท Apple เริ่มพัฒนาคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานส่วนบุคคล โดยนำอินเตอร์เฟซผู้ใช้แบบกราฟิก (GUI) เข้ามาใช้บนคอมพิวเตอร์ด้วย ในขณะนั้นบริษัทได้มีการแบ่งทีมพัฒนาออกเป็น 2 ทีม คือทีมพัฒนาคอมพิวเตอร์ Lisa และ Macintosh ปรากฏว่าหลังจากเปิดตัวโปรเจคคอมพิวเตอร์ Macintosh ได้รับความนิยมจากตลาดและสร้างเม็ดเงินให้กับบริษัทเป็นจำนวนมาก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในครั้งนี้ นำพาบริษัทเข้าตลาดหุ้นได้ในปี ค.ศ. 1980 และทำให้ Steve Jobs กลายเป็นมหาเศรษฐี แต่แล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้นภายในบริษัท การตัดสินใจที่ผิดพลาดทำให้ Steve Jobs ต้องลาออกจากบริษัทที่สร้างมา พร้อมกับก่อตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ NeXT Inc. และได้มีการพัฒนาระบบฏิบัติการของตนเองที่เป็นต้นแบบของ Mac OS X ในปัจจุบัน ซึ่งนั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดของ Apple เพราะคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องแรกอย่าง Macintosh Portable กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และหลังจากนั้นไม่นาน Microsoft บริษัทคู่แข่งได้ส่ง Windows 3.0 เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดไป อีกทั้งยังเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นในกรณีเกี่ยวกับการลอกเลียนกราฟิกอินเตอร์เฟซ (GUI) ส่งผลให้สถานการณ์ของบริษัท Apple แย่ลง แม้จะเปิดตัวคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็กอย่าง PowerBook ที่สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าบริษัทได้อย่างมาก ก็ไม่สามารถทวงคืนตำแหน่งผู้นำแห่งวงการเทคโนโลยีได้ แต่อุปกรณ์ที่เปิดตัวในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นและต้นแบบชิ้นงานสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ยุครุ่งเรืองของ Apple ยุคเรืองรองของ Apple ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เมื่อ Apple ตัดสินใจประกาศซื้อกิจการของบริษัท NeXT Inc. ในปี ค.ศ. 1996 เพื่อดึงตัว Steve Jobs กลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา และได้เป็น CEO ในปีถัดมา เขาตัดสินใจทำข้อตกลงกับ Microsoft โดยให้เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนเงิน 150 ล้านเหรียญ พร้อมกับข้อแลกเปลี่ยนให้สามารถนำ Microsoft Office มาใช้บนคอมพิวเตอร์ Macintosh (Mac) ได้ พร้อมทั้งยังเปิดตัว Apple Store ร้านค้าออนไลน์สำหรับซื้อสินค้าของบริษัทหลังจากนั้นในปีถัดๆ มา Apple ก็ทยอยเปิดตัวสินค้าที่พลิกโฉมวงการเทคโนโลยี เริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์รวมความบันเทิงทั้งหลายอย่าง iMac ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายพุ่งทะยานอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1998 ต่อด้วย iPod สินค้าที่ฉีกแนวของบริษัทออกจากวงจรของคอมพิวเตอร์ สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการอุปกรณ์ไลฟ์สไตล์เพื่อความบันเทิง สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับบริษัทในปี ค.ศ. 2001 และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี ร้านค้าเพลงออนไลน์อย่าง iTunes ได้ถือกำเนิดขึ้น และส่งผลให้ Apple ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปีแรกนั้นสามารถสร้างยอดขายได้ถล่มถลาย มากกว่า 100 ล้านเพลง และมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 70% และเมื่อเวลาเดินทางมาถึงปี ค.ศ. 2007 บริษัท Apple ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการโทรศัพท์ เมื่อพวกเขาได้เปิดตัว Smart Phone ที่มาพร้อมหน้าจอสัมผัสอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกอย่าง iPhone ซึ่งเป็นการปรับโฉมวงการโทรศัพท์ และสร้างกระแสสมาร์ทโฟนให้เริ่มเติบโตขึ้น และกลายเป็นต้นแบบของโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว App Store ที่เป็นแหล่งรวบรวมแอพพลิชั่นเสริมต่างๆ ให้สามารถโหลดใช้งานเพิ่มเติมได้อีกด้วย และอีกผลงานยอดนิยมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ iPad อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คล้ายสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอใหญ่จุใจ ใบเบิกทางสำคัญสำหรับวงการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้หลากหลายแบรนด์คิดค้นและพัฒนาจนเกิดเป็น แท็บเล็ต ซึ่งการเปิดตัวในครั้งนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและเหล่าสาวกเป็นอย่างมาก Apple ไม่เคยหยุดยั้งการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี อัปเกรดสินค้าที่มี ให้เกิดรูปแบบใหม่และเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นในทุกๆ ปี รวมถึง Gadget ที่ช่วยเสริมความสะดวกสบายอย่าง AirPods และ Apple Watch ที่เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้น จนมีแฟนคลับและเหล่าสาวกจำนวนมหาศาลที่พร้อมตั้งตารอ ซึ่งผลงานความสำเร็จที่เราเอามาฝากนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของ Apple เท่านั้น พวกเขายังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อครองใจผู้บริโภคส่วนใหญ่ในตลาดเสมอมา มารอลุ้นกันดีกว่าว่าผู้นำวงการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Apple จะสร้างสรรค์อะไรให้ผู้บริโภคประทับใจได้อีก ถ้าหากมีอะไรเปิดตัวล่ะก็ เราจะรีบเอามาแชร์ให้ผู้อ่านทุกคนได้ตื่นเต้นไปด้วยกันให้เร็วที่สุดเลย อย่าลืมกด Subscribe เว็บไซต์นี้ไว้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คุณติดตามข่าวสาร รวมถึงเทรนด์จากทุกวงการได้รวดเร็วมากกว่าใคร ขอบคุณที่มา : apple-history.com