Autonomous vehicle อาจจะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นชิน แต่ถ้าในวงการรถและยานยนต์นั้น คงเป็นคำยอดฮิตที่หลายคนให้ความสำคัญและกำลังศึกษา รวมถึงติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาเป็นแน่ เพราะ Autonomous vehicle คือ นวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับ สุดยอดเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่โลกกำลังให้ความสนใจ จนมีหลากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาระบบ อาทิเช่น Tesla, Apple, และ Google โดยบางบริษัทก็เริ่มมีการผลิตยานยนต์กึ่งไร้คนขับออกมาใช้บ้างแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการผลิตยานยนต์ไร้คนขับแบบเต็มรูปแบบเข้าสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วในอีกไม่ช้าแน่นอน แต่ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) คืออะไร รถยนต์ไร้คนขับได้จริงหรือไม่ มาดูกัน
ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) คืออะไร?
ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle หรือ Self-driving Car) คือ เทคโนโลยีที่ทำให้ยานพาหนะหรือรถยนต์สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมรอบข้าง และสามารถขับเคลื่อนไปยังที่ต่างๆ ได้เองแบบอัตโนมัติและปลอดภัย โดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือไม่จำเป็นต้องมีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์อยู่ในรถเลยก็ได้ ซึ่งความล้ำหน้าสุดเจ๋งนี้ เกิดจากการใช้นวัตกรรมของเทคโนโลยีหลักๆ 4 เทคโนโลยี ดังนี้
- Computer Vision
: เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับยานยนต์ไร้คนขับ โดยใช้กล้อง และเรดาร์ตรวจจับคลื่นต่างๆ ทั้งเสียงและวัตถุโดยรอบเมื่อรถวิ่ง
2. Robotic
: เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เสมือนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับแขนขาและส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยทำการเชื่อมต่อระบบประมวลผลส่วนกลางเข้ากับระบบเครื่องจักรต่างๆ ในตัวรถ
3. Deep Learning
: เทคโนโลยีที่เป็นสมองของยานยนต์ไร้คนขับ สามารถตัดสินใจควบคุมรถได้ด้วยระบบตนเอง โดยมาจากการประมวลผลข้อมูลที่รับมาจากระบบ Computer Vision
4. Navigation
: เทคโนโลยีที่เป็นระบบแผนที่ที่เราคุ้นหูกันดี โดยประกอบด้วยระบบการระบุตำแหน่งของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจากดาวเทียม และระบบแผนที่เสมือนจริงที่เก็บรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลดิจิทัล ทั้งนี้ยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งของรถบนถนน เช่น ตำแหน่งของไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณต่างๆ รวมถึงความเร็วสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตให้รถวิ่งได้ในถนนแต่ละเส้น ยานยนต์ไร้คนขับจะใช้ระบบแผนที่ซึ่งประมวลผลร่วมกับระบบ Sensor เพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำในการตัดสินใจให้เสถียร์มากยิ่งขึ้น
ข้อดีของยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle)
- ขับขี่สะดวกสบายมากขึ้น
: ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะทางสั้นหรือยาว ใกล้หรือไกล ระบบช่วยขับอัตโนมัติของยานยนต์ไร้คนขับ จะช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถงีบหลับ พักผ่อน เพื่อคลายความเมื่อยล้าได้ในขณะขับรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่รถติด การจราจรหนาแน่น ยานยนต์ไร้คนขับก็จะช่วยผ่อนแรงไปได้มาก หมดปัญหาปวดขา อีกทั้งยังช่วยทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ลดลงได้อีกด้วย
- อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนถนนลดลง
: เนื่องจากยานยนต์ไร้คนขับทุกคันนั้นมีกล้องมองรอบทิศทาง มีเซ็นเซอร์ตรวจจับ อีกทั้งยังใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพการจราจร จึงทำให้อุบัติเหตุจากการขับจี้ท้าย ปาดหน้า และหลับใน มีอัตราและแนวโน้มที่จะลดน้อยลงซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากขึ้นไปอีก
- มีเวลาชีวิตเพิ่มมากขึ้น
: เมื่อยานยนต์ไร้คนขับสามารถขับเคลื่อนได้อย่างอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำเวลาในการเดินทางไปทำอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้บนรถ หรือการใช้รถให้ขับขี่ไปยังที่หมายแทนตัวผู้ขับขี่ และทำกิจกรรมที่สำคัญหรือเร่งด่วนกว่า นอกจากนั้นยานยนต์ไร้คนขับยังช่วยลดการเกิดรถติด และทำให้ระยะเวลาในการเดินทางสั้นลง McKinsey มีการประเมินเบื้องต้นว่าเมื่อยานยนต์ไร้คนขับเข้าสู่รถยนต์กระแสหลักของโลก จะช่วยประหยัดเวลาในท้องถนนรวมๆ แล้วกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน
ข้อเสียของรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle)
- อันตรายจากความไม่ชัดเจนของป้ายจราจร
: ถึงแม้ยานยนต์ไร้คนขับจะมีความสามารถในการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับและอ่านป้ายจราจร แต่หากเกิดกรณีที่ป้ายจราจรทำชำรุดหรือมีร่องรอยจนอ่านได้ยากและไม่ชัดเจน อาจส่งผลให้ระบบประมวลผลทำงานผิดพลาด และนำไปสู่การตัดสินที่ผิดพลาดได้
- อันตรายจากผิวถนน
: ระบบของยานยนต์ไร้คนขับอาจจะไม่สามารถแยะสภาพพื้นผิวของถนนที่เปลี่ยนไปทุกวันได้ เซ็นเซอร์อาจแยกหลุมบ่อบนพื้นถนนผิดพลาด และหากตกหลุมที่ลึกมากๆ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้
- อันตรายจากรถยนต์คันอื่น
: เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้กับการใช้รถหรือยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนร่วมกับผู้อื่น เพราะไม่ใช่รถทุกคันที่จะใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมการขับขี่ตามใจตนเอง หรือยากในการประมวลผลผ่านระบบ เช่น การขับปาดหน้า และขับย้อนศร อาจส่งผลให้ยานยนต์ไร้คนขับตัดสินใจผิดพลาด และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
- ราคาแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป
: แม้จะได้รับความนิยมและความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ยานยนต์ไร้คนขับนั้นมีราคาค่อนข้างสูงมาก เป็นราคาที่เกินเอื้อมสำหรับบุคคลทั่วไป ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับอย่าง Tesla Model S มีราคาขานในประเทศไทย คือ 6.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงมากสำหรับรถยนต์ทั่วไป ทำให้เป็นเพียงรถในฝันของบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ราคาจะต่ำลงจนคนทั่วไปเอื้อมถึงได้
อย่างไรก็ตามยานยนต์ไร้คนขับก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าติดตามมากสำหรับชาวรักรถทุกคน วันนี้เรามาแนะนำเพียงข้อมูลเบื้องต้นของยาวยนต์ไร้คนขับ ครั้งหน้าเราจะเอาข้อมูลข่าวสารของยานยนต์ไร้คนขับในแง่มุมหรือด้านไหนมาฝาก รอติดตามได้เลย หรือสามารถ กดติดตาม (Subscribe) บล็อกของเราไว้ได้ เพื่ออ่านข้อมูลและสาระดีๆ ได้ก่อนใครเลย